18 ปี เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ปะทะอย่างรุนแรง ผู้เสียชีวิตรวม 108 ศพ
28 เมษายน 2547: เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่ “กรือเซะ” ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ศพ
เจ้าหน้าที่ทหารขณะทำความสะอาดบริเวณมัสยิดกรือเซะในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 (AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL)
เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 28 เมษายน พ.ศ.2565
เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยในครั้งนั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการนับ 10 จุด ของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ราย กว่า 30 รายถูกสังหารในมัสยิดกรือเซะ มัสยิดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยังคงกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มโจรกระจอกและพวกขี้ยา เช่นเดียวกับเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าทั้งการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ การเผาโรงเรียน และการวางระเบิดหลายครั้ง ในทางกลับกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทักษิณกล่าวว่า การโจมตีในครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมซึ่งได้รับการฝึกฝนในต่างประเทศ
หลังเกิดเหตุไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้ลงมือ และไม่มีหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ ปีเดียวกันนี้ยังเคยเกิดเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นปืนกลาง “ค่ายทหาร” จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และมีทหารเสียชีวิต 4 นาย มาแล้ว
ผู้ก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์กรือเซะส่วนใหญ่ป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-20 ปี มีอาวุธเพียงแค่มีดพร้า และกริชเท่านั้น หลายคนเหมือนมีเจตนาที่จะตายตั้งแต่แรกทำให้เจ้าหน้าที่ทหารบางรายมองว่าเป็นการโจมตีแบบฆ่าตัวตาย ขณะที่ตัวผู้บงการเจ้าหน้าที่คาดว่าจะเป็นผู้ใหญ่อายุราว 50-60 ปี
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้โจมตีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจต่อการปฏิบัติงานในครั้งนี้โดยกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลข่าวกรองในการวางกับดักเพื่อเพิ่มความเสียหาย แทนที่จะใช้ข้อมูลในการจำกัดการเสียเลือดเสียเนื้อ
“รัฐบาลไม่จำเป็นต้องฆ่าพวกเขา แต่รัฐบาลก็ฆ่าพวกเขาจนหมดอยู่ดี” สุนัย ผาสุก จากกลุ่มฮิวแมนไรท์วอท์ช (Human Rights Watch) กล่าว “พวกเขาไม่จำเป็นต้องถล่มมัสยิดแต่สุดท้ายก็ทำ…นี่คือหนึ่งในสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ฟอรัมเอเชีย (Forum Asia) ออกแถลงการณ์กล่าวว่า “ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ใช้แค่มีดพร้าและกริชเท่านั้น…ทหารที่มีอาวุธครบมือ และตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ย่อมสามารถจัดการกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้อย่างแน่นอน แล้วมันมีเหตุผลอะไรที่จะต้องฆ่าพวกเขา”
รายงานของนิวยอร์กไทม์อ้างว่า เจ้าหน้าที่รัฐหลายรายกล่าวว่า การตอบโต้อย่างรุนแรงครั้งนี้ก็เพื่อ “สั่งสอน” และกำราบความพยายามที่จะก่อเหตุกบฏในภาคใต้ในภายหน้า แต่ผู้นำชาวมุสลิมในภูมิภาคกลับมองว่าผลของเหตุการณ์น่าจะส่งผลตรงกันข้ามกับเจตนาของเจ้าหน้าที่รัฐ
“ผมเป็นห่วงจริงๆ ว่าเหตุการณ์ในภาคใต้จะยิ่งลุกลามใหญ่โต” อับดุลรอซัค อาลี รองประธานคณะกรรมอิสลามจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้นกล่าวกับเดอะเนชั่น “ผลของเหตุการณ์กระทบกับชาวมุสลิมแน่นอน พวกเขาย่อมจะรู้สึกไม่ดีกับเจ้าหน้าที่ และเหตุวุ่นวายก็จะยิ่งดำเนินต่อไปโดยไม่อาจแก้ไขได้”
ขณะที่ สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี ผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยในขณะนั้น ได้กล่าวให้การสนับสนุนการตอบโต้อย่างรุนแรงของกองทัพต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เข้าไปหลบในมัสยิดว่า “เจ้าหน้าที่ได้พยายามยับยั้งการใช้กำลังในการจัดการกับสถานการณ์อย่างสมควรแล้ว…พวกเขาต้องอดทนและรอคอยเป็นระยะเวลายาวนานนอกมัสยิด”
อ้างอิง :
1. “ยะลาคุมเข้มครบรอบ 8 ปีเหตุการณ์ ‘กรือเซะ’ จับตารถยนต์ต้องสงสัย”, มติชนออนไลน์ 28 เม.ย 2555. เว็บ. 28 เม.ย. 2559
2. Mydans, Seth. “Thai Troops Kill 107 in Repelling Muslim Attackers”, The New York Times 29 Apr. 2004. Web. 28 Apr. 2016.
3. Mydans, Seth. “Thailand Sends Troops To Counter New Attacks”, The New York Times 30 Apr. 2004. Web. 28 Apr. 2016.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ.2559 28 เมษายนความขัดแย้งจังหวัดปัตตานีมัสยิดกรือเซะ